Last updated: 17 พ.ย. 2566 | 250 จำนวนผู้เข้าชม |
Q: ติดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาดเท่าไหร่ไม่ต้องไปขออนุญาตดัดแปลงอาคาร?
A: กฎกระทรวง ฉบับที่ 65 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกาศให้กรณียกเว้นการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ตามเงื่อนไข ดังนี้ ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร
“การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาอาคารที่อยู่อาศัย ที่มีขนาดพื้นที่ติดตั้ง ไม่เกิน 160 ตรม. และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20กิโลกรัมต่อตรม.”
แต่ยังจำเป็นต้องแจ้งเพื่อทราบต่อหน่วยงานท้องถิ่น ตามประกาศ ดังนี้
“โดยต้องมีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำ และรับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัย และแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ"
Q: การขออนุญาตดัดแปลงอาคาร หรือขอ (อ.1) คืออะไร? ไปติดต่อขออนุญาตที่ไหน?
A: อาคารที่ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์มากกว่าข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 65 จะต้องทำการขออนุญาตดัดแปลงอาคาร หรือขอใบอนุญาต อ.1 โดยติดต่อยืนขอรับใบอนุญาตที่หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น เช่น สำนักงานเทศบาล/ อบต. , สำนักงานเขต ในท้องที่ที่อาคารตั้งอยู่ แต่หากเป็นกิจการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ต้องขออนุญาต กนอ.02/2 จากการนิคม
Q: ติดตั้ง Solar Rooftop แบบไหนที่ไม่ต้องขออนุญาตดัดแปลงอาคาร?
A: อาคารที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต อ. 1 ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ได้แก่ อาคารของกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรของรัฐที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ โบราณสถาน วัด หรืออาคารเพื่อการศาสนา อาคารขององค์กรระหว่างประเทศ อาคารสถานฑูต หรือสถานกงศุล แต่ยังต้องไปติดต่อแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ
Q: จะเริ่มทำการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้ตอนไหน?
A: กรณีที่เป็นการติด Solar Rooftop บนหลังคาบ้านพักอาศัย สามารถเริ่มติดตั้งได้ หลังจากที่ยื่นแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่ในกรณีที่เป็นการติด Solar Rooftop บนหลังคาอาคารขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ อาทิเช่น อาคารพาณิชย์, อาคารสำนักงาน, หลังคาโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น จะเริ่มติดตั้งได้ ภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร หรือใบ อ.1 เท่านั้น
Q: ติดตั้ง Solar Rooftop ขนาดเท่าไหร่ ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า?
A: ใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ออกให้โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือที่เรียกกันว่า กกพ. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลตามแนวนโยบายของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพ
กกพ. มีระเบียบชี้แจงไว้ว่า ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (INVERTER) กำลังการผลิตรวมมากกว่า 1,000 kVA ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า
กรณีที่ติดตั้งกำลังการผลิตน้อยกว่า 1,000 kVA ให้ยื่นเรื่องกับ กกพ. เพื่อขอจดแจ้งยกเว้นฯ
Q: ติดตั้ง Solar Rooftop ขนาดเท่าไหร่ ต้องติดอุปกรณ์ Rapid Shutdown?
A: ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เฉพาะที่ติดตั้งบนหลังคา มีขนาดของเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (INVERTER) รวมมากกว่า 200 kVA ขึ้นไป ต้องติดตั้งอุปกรณ์ Rapid Shutdown ให้เป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศ (มาตรฐาน วสท. 022013-22)
Q: ติดตั้ง Solar Rooftop ขนาดเท่าไหร่ ต้องขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2)?
A: ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เฉพาะที่ติดตั้งบนหลังคา มีขนาดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมมากกว่า 200 kVA ขึ้นไป ต้องขอรับใบอนุญาต พค.2 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้า ตามกฎกระทรวง ออกโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
Q: ติดตั้ง Solar Rooftop ขนาดเท่าไหร่ จึงจะถือว่าเป็นโรงงาน ที่ต้องขอ ร.ง.4 (ลำดับที่ 88)?
A: ติดตั้งระบบที่มีขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 1 MW ขึ้นไป
Q: โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการติดตั้ง Solar Rooftop ต้องแจ้งต่อกรมโรงงานหรือไม่?
A: ดำเนินการแจ้งขอขยายแรงม้า กับกรมโรงงาน หรือสำนักงานอุตสาหกรรมในพื้นที่
Q: ติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป ต้องขออนุญาตการไฟฟ้าไหม?
A: คำถามนี้ เป็นสิ่งที่หลายๆคนมีข้อสงสัยกันมากที่สุด ว่าติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปที่บ้าน ต้องไปขออนุญาตการไฟฟ้าด้วยหรือไม่ ซึ่งคำตอบแยกเป็น 2 กรณี ได้แก่
1. กรณีที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดออฟกริด (Off -Grid Solar System) หรือระบบ Stand-Alone เป็นระบบที่ไม่เชื่อมต่อกับสายส่งการไฟฟ้า ไม่ต้องขออนุญาตการไฟฟ้า
2. กรณีที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดออนกริด (On-Grid Solar System) ที่ใช้เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าชนิด Grid Connected Inverter ที่เป็นที่นิยมและคุ้มค่าการลงทุนมากที่สุดในเวลานี้ จำเป็นต้องไปยื่นขออนุญาตกับการไฟฟ้า ทั้งระบบไฟฟ้าของ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) รวมถึงขออนุญาตหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
Q: ติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อป ขายไฟให้การไฟฟ้าได้ไหม?
A: การขายไฟที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถทำได้ตามที่มีประกาศรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งในปี 2565 มีประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย ขนาดกำลังผลิต ติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) อัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาท/หน่วย โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10ปี
Q: ติดตั้งโซล่าร์รูฟท๊อปที่โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตไฟใช้เองในกิจการ จะขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้หรือไม่?
A: สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 15/2565 มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) โดยต้องตรวจสอบประเภทกิจการว่าอยู่ในกลุ่มกิจการที่ให้การส่งเสริมฯ
*** การติดตั้ง Solar Rooftop มีรายละเอียดและเงื่อนไขการขอนุญาตจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเรา ให้บริการ ONE STOP SERVICE แก่ท่าน ให้คำแนะนำก่อนการลงทุน ไปจนถึงการจัดเตรียมและยื่นเอกสารขออนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าอย่างครบวงจร